วิจารณ์ผลการศึกษา
          การศึกษามวนในแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยด้วยวิธีเชิงคุณภาพ ได้จำนวนชนิดของมวนมากกว่าผลการศึกษาชุมชนมวนด้วยวิธีเชิงกึ่งปริมาณ เพราะวิธีเชิงคุณภาพสามารถเก็บตัวอย่างได้ทุกแหล่งที่อยู่อาศัย คุณภาพน้ำในลำห้วยทั้งสองยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งนี้พิจารณาจากค่าตัวแปรต่าง ๆ ที่วัดได้เปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (กระทรวงสาธารณสุข, 2537) ผลการจัดกลุ่มชุมชนมวนในลำห้วยทั้งสองนี้ พบว่าชุมชนมวนในลำห้วยทั้งสองแตกต่างกัน ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เกิดจากความแตกต่างของพื้นที่อาศัยมากกว่าความแตกต่างด้านฤดูกาล นฤมลและวิโรจน์ (2540) รายงานว่าชุมชนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในลำห้วยหญ้าเครือ และลำห้วยพรมแล้งแตกต่างกัน เนื่องจากผลของฤดูกาลและพื้นที่อาศัย และคมคณิต (2541) ศึกษาพบว่าสาหร่ายในลำห้วยทั้งสองมีชนิดที่คล้ายคลึงกัน ความแตกต่างของชุมชนสาหร่ายเป็นผลเนื่องจากฤดูกาลเป็นสำคัญ มวนที่พบมากในลำห้วยหญ้าเครือ คือ Metrocoris nigrofasciatus Distant, Ptilomera tigrina Uhler lg and det. N. Nieser, Rhagovelia citata Drake, Strongylovelia sp.1 Strongylovelia sp.2 และ Strongylovelia sp.3 ส่วนมวนที่พบมากในลำห้วยพรมแล้งคือ Metrocoris sp.2, Ventidius pulai Cheng, Ventidius (Ventidioides) karen Chen and Zettel และ Amemboa sp.3


          การจัดกลุ่มแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม พบว่า แหล่งอาศัยย่อยกลุ่มที่ 1 มีการสะสมของตะกอนบนพื้นลำธารมาก เนื่องจากมีเศษซากใบไม้และฝ้าบนผิวน้ำปานกลาง จึงมีการสลายตัวของแร่ธาตุต่าง ๆ สู่แหล่งน้ำได้น้อย ค่าการนำไฟฟ้าและปริมาณ ของแข็งละลายน้ำจึงต่ำ และเนื่องจากน้ำไหลแรงจึงมีการละลายของออกซิเจนในน้ำสูงด้วย กลุ่มแหล่งอาศัยย่อยที่ 2 มีการสะสมของเศษซากใบไม้ที่กำลังเน่าเปื่อยมากที่พื้น และมีฝ้าหนาปกคลุมผิวน้ำ การที่มีใบไม้กำลังเน่าทำให้มีการสลายของแร่ธาตุต่าง ๆ ในแหล่งน้ำ จึงมีผลทำให้ค่าการนำไฟฟ้าของน้ำ และปริมาณของแข็งละลายน้ำสูงการที่น้ำไม่ไหล หรือไหลเอื่อยมาก จึงทำให้ฝ้าบนผิวน้ำและปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำ กลุ่มแหล่งอาศัยย่อยที่ 3 พื้นลำธารส่วนใหญ่เป็นกรวด มีการสะสมของตะกอนน้อยมาก และไม่มีเศษซากใบไม้ ดังนั้นจึงมีแร่ธาตุละลายน้ำน้อยมาก มีผลทำให้ค่าการนำไฟฟ้าของน้ำและปริมาณของแข็งละลายน้ำต่ำ น้ำไหลแรงกว่าแหล่งอาศัยย่อยกลุ่มที่ 1 จึงมีผลทำให้มีออกซิเจนละลายน้ำค่อนข้างสูงแต่น้อยกว่าแหล่งอาศัยย่อยกลุ่มที่ 1
          ลำห้วยหญ้าเครือมีกลุ่มที่อยู่อาศัยย่อยมากกว่าลำห้วยพรมแล้ง คือมีที่อยู่อาศัยย่อยทั้งแบบที่ 1 แบบที่ 2 และแบบที่ 3 โดยส่วนมากจะเป็นแหล่งอาศัยย่อยแบบที่ 2 ส่วนลำห้วยพรมแล้งมีกลุ่มแหล่งอาศัยย่อยเพียง 2 แบบ คือ แบบที่ 1 และแบบที่ 3 เท่านั้น ส่วนมากจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยแบบที่ 1 ลักษณะเด่นของแหล่งที่อยู่อาศัยแบบที่ 1 และแบบที่ 3 คือ ไม่มีการสะสมของเศษใบไม้หรือมีเพียงเล็กน้อย ในบริเวณที่ไม่มีการสะสมของเศษซากใบไม้จะไม่มีฝ้าปกคลุม ในขณะที่บริเวณที่มีการสะสมของเศษซากใบไม้จะมีฝ้าปกคลุมเล็กน้อย พื้นที่มีกรวดปกคลุม ออกซิเจนละลายค่อนข้างสูงเนื่องจากน้ำไหลแรง ค่าการนำไฟฟ้าและปริมาณของแข็งละลายน้ำค่อนข้างต่ำ ส่วนแหล่งอาศัยย่อยแบบที่ 2 มีการสะสมของเศษใบไม้มาก มีฝ้าปกคลุมมาก น้ำไหลช้า มีปริมาณออกซิเจนละลายน้อย ส่วนค่าการนำไฟฟ้าและปริมาณของแข็งละลายน้ำสูง
          การที่พบมวนต่างชนิดกันในแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยแตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของมวนแต่ละชนิด จากผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า Amemboa sp.2., Amemboa sp.3., Microvelia sp. และ Strongylovelia sp.2 ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี คือมีปริมาณออกซิเจนละลายสูงและมีค่าการนำไฟฟ้าต่ำ โดย Microvelia sp. และ Strongylovelia sp.2 สามารถทนทานต่อค่าการนำไฟฟ้าที่สูงกว่าได้ ส่วน Rhagovelia citata Drake และ Ptilomera tigrina Uhler lg and det. N. Nieser ค่อนข้างทนทานสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการสะสมของเศษซากใบไม้ มีฝ้าบนผิวน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายต่ำและมีค่าการนำไฟฟ้าค่อนข้างสูง หรือกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า มวนทั้งสองชนิดนี้สามารถทนอยู่ได้ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ถ้ามีการศึกษาและพิสูจน์ความเป็นไปได้ของสมมติฐานนี้ก็จะทำให้ได้ดัชนีชีวภาพที่ช่วยระบุถึงคุณภาพของแหล่งน้ำได้ ซึ่งมวนเหล่านี้เป็นสัตว์ที่สามารถสังเกตและจดจำได้ง่าย เนื่องจากมีขนาดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาศัยอยู่บนผิวน้ำทำให้มองเห็นได้ง่าย