บทคัดย่อ
(ABSTRACT)

นางสาวศิริพร แซ่เฮง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.นฤมล แสงประดับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชื่อเรื่อง ความหลากชนิดของมวนน้ำจืดในลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
Species Diversity of Freshwater Bugs (Hemiptera: Insecta) in Yakruea and Phromlaeng Streams of Nam Nao National Park, Thailand

          การศึกษาความหลากชนิดของมวนน้ำจืด ในลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน คือ (i) การศึกษาชุมชนมวน (assemblage) ในลำห้วยทั้งสองแห่ง โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างด้วยสวิง ลำห้วยละ 7 ซ้ำ เป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้งระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฏาคม 2540 และ (ii) การศึกษาแหล่งอาศัยย่อยของมวน (microhabitat) ในลำห้วยทั้งสองแห่ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2540 โดยการเก็บตัวอย่างด้วยสวิงในทุกแหล่งอาศัยและตรวจวัด คุณภาพสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัย เพื่อหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ กับการกระจายของชนิด
          ผลการศึกษาพบว่า พบจำนวนชนิดของมวนทั้งสิ้น 5 วงศ์ 15 สกุล 27 ชนิด ลำห้วยพรมแล้งพบมวน 14 สกุล 25 ชนิด ซึ่งมีความหลากหลายของมวนมากกว่าลำห้วยหญ้าเครือซึ่งพบมวน 13 สกุล 23 ชนิด ชุมชนมวนในลำห้วยทั้งสองแตกต่างกัน และมีมวนบางชนิดที่พบเฉพาะในลำห้วยหญ้าเครือ ได้แก่ Limnometra matsudai (MIYAMOTO) det. N. Nieser, Rhagovelia citata Drake, Strongylovelia sp.l, Strongylovelia sp.2 และ Strongylovelia sp.3 ส่วนมวนที่พบเฉพาะในลำห้วยพรมแล้งเท่านั้น ได้แก่ Ventidius pulai Cheng, Ventidius (Ventidioides) karen Chen and Zettel, Micronecta sp. และ Onychrotrechus sakuntala Kirkaldy
          การศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยพบว่า คุณสมบัติทางกายภาพบางประการของน้ำ เช่น การนำไฟฟ้า ปริมาณของแข็งละลายน้ำ อุณหภูมิของน้ำ การมีหรือไม่มีฝ้าปกคลุมที่ผิวน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ และความลึกของน้ำ รวมทั้งสภาพของพื้นอาศัยเช่น การสะสมของเศษซากใบไม้ ตะกอนและบริเวณพื้นที่เป็นกรวด เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการกระจายของชนิดมวนในแหล่งที่อยู่อาศัย